วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2553

12-4-51 B สัญลักษณ์มงคล ฮก ลก ซิ่ว และซังฮี แปลว่าอย่างไร

ส่งเมื่อ : 12/4/51 เวลา : 08 : 08 น.
ตอบ ขอให้มีความสุข ให้สมปรารถนาให้ร่ำรวย ให้ลูกหลานดีและมีอายุมั่นขวัญยืน

ฮก แปลว่า ความสุข สุขจากการได้สมปรารถนาในโชค ในทรัพย์ ยศถาบรรดาศักดิ์และ อายุที่ยืนยาว

ลักษณะ : ชายโหงวเฮ้งดี ดูดีมีราศี แต่งกายภูมิฐาน

มือขวา : ประคองคฑา ยอดทำด้วยหยก เรียก "ยู่อี่" หรือ "เง็กยู่อี่" (หยกสมปรารถนา) หรือคฑากายสิทธิ์ ถือเป็นของวิเศษ ใครอธิษฐานสิ่งใดก็ให้สมปรารถนาหรือได้โชคลาภตามคำขอ

ลก แปลว่า บุญบารมี บุญที่ขอให้ร่ำรวย มีฐานะมั่งคั่งมีบารมีจากความก้าวหน้าในงาน ถ้ารับราชการก็ขอให้ได้เป็นใหญ่เป็นโต หากทำการค้าก็ให้รุ่งเรืองมีกำไร และมีลูกหลานดีๆ มากมาย มาสืบทอดวงศ์ตระกูลต่อไป

ลักษณะ : อัครอภิมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่ง ร่ำรวยล้นฟ้า

มือขวา : ถือบัญชีทรัพย์สินและรายชื่อลูกหนี้ม้วนใหญ่ เพราะมีลูกหนี้มากมายจำได้ไม่หมด ต้องจดใส่สมุดไว้ และด้านขวามีลูกสาวตัวน้อยเกาะขาอยู่ในอ้อมแขนของลูกสาวมีเครื่องประดับ ดอกไม้ ขนมนมเนยแสดงถึงความมีกินมีใช้

มือซ้าย : อุ้มลูกชาย ในมือของลูกชายถือเงินทอง แสดงถึงความร่ำรวย ตุ๊กตาลกที่สมบูรณ์จะต้องมีลูกชาย เพราะคนจีนถือมากเรื่องการสืบต่อวงศ์ตระกูล ถ้ารวยอย่างเดียวโดยไม่มีลูกชายสืบสกุล ก็ไร้ประโยชน์

ซิ่ว แปลว่า อายุมั่นขวัญยืนยาว มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง

ลักษณะ : ตาแป๊ะแก่ชรา ผม คิ้ว หนวด เครายาวสีขาวเหมือนสำลี ติ่งหูใหญ่ยาวถึงบ่า แสดงโหงวเฮ้งของผู้มีอายุยืน หน้าผากนูนโหนกผิดปกติ เพราะมี "ฮกขี่" (บุญวาสนา) มากจนล้นและปูดออกมาทางหน้าผาก ตุ๊กตาซิ่วนั้นบุญวาสนาสูงนักจึงมีอายุยืนยาว และได้เป็นเซียนในภายหลังด้วย

มือขวา : ถือไม้เท้าหัวมังกรสัตว์ในเทพนิยายที่มีอายุยืนถึงหมื่นปี ที่คอไม้เท้า ห้อยน้ำเต้าที่บรรจุยาอายุวัฒนะไว้ภายใน เหนือน้ำเต้ามี "เซียนจือ" (ตำรายาเทวดา หรือยาอายุวัฒนะ) ผูกติดอยู่ ข้างกายมีสัตว์เลี้ยง "เซียนเฮาะ" (นกกะเรียนเทวดาอายุพันปี) ที่ในปากคาบ"เซียนเฉ้า" ซึ่งเป็น หญ้าเทพยดามีขึ้นเฉพาะบนสวรรค์ เมื่อนำไปต้มน้ำกินจะทำให้ปราศจากโรคภัยและมีอายุยืนยาวอีกด้วย

มือซ้าย : ถือผลท้อ ซึ่งเป็นผลไม้สวรรค์หากใครได้ทานจะมีอายุยืนยาว

ดังนั้น ฮก จึงเป็นหัวหน้าของ ลก และ ซิ่ว เพราะคนเราต้อง มีความสมหวังว่าทำงานก้าวหน้า ไม่มีปัญหาเรื่องเงินทองมีสุขภาพอนามัยดี จึงจะมีความสุข คือมี ฮก นั่นเอง แต่ตัวหนังสือจีน ฮก, ลก และ ซิ่ว นี้มีความมหัศจรรย์ล้ำลึก ที่สามารถเขียนให้แตกต่างกันไปได้ถึง 100 แบบ 1,000 แบบ ถึง 10,000 แบบทีเดียว ทุกแบบทุกตัวล้วนมีความหมายและออกเสียงเป็นคำเดียวกันโดย ซิ่ว จะเป็นที่นิยม ที่สุด

อักษรมงคล ซังฮี่

ฮี่ แปลว่า ความสุข ความยินดี

ซัง แปลว่า คู่ หรือ 2 เท่า

ซังฮี่ จึงมีความหมายว่าสุขเป็น 2 เท่า นิยมใช้เป็นสัญลักษณ์ของงานแต่งงาน หมายถึงความสุข ของคู่วิวาห์ ที่มาของคำว่า ซังฮี่ นี้มาจากสมัยราชวงศ์ซ้อง บัณฑิตหนุ่มแซ่หวัง ชื่อหวังอาซี เข้าสอบหน้าพระที่นั่ง หลังสอบเสร็จก็เข้าพิธีวิวาห์กับหญิงคนรัก ปรากฏว่าในวัน แต่งงานทราบผลสอบว่าสอบได้เป็นที่ 1 คือได้เป็น "จอหงวน" นั่นเอง ในการแต่งบ้านสำหรับงานแต่งงานของตน หวังอาซีได้เขียนคำว่า ฮี่ สีทองบนกระดาษ แดง ติดไว้ที่ผนัง เมื่อทราบว่าสอบได้เป็นจอหงวน ทำให้ความสุขความยินดีเพิ่มเป็นทวีคูณจึง เขียนคำว่า อีกตัวหนึ่ง เพิ่มต่อจากฮี่ตัวแรกกลายเป็นคำ (ซังฮี่) หรือฮี่คู่ แล้วนำไป ติดไว้ที่หน้าประตูบ้าน เพื่อประกาศให้ญาติมิตรได้ทราบถึงความสุขที่มีเป็น 2 เท่าของตน ตั้งแต่นั้นมา คำว่า ซังฮี่ ก็เป็นที่นิยมและกลายเป็นสัญลักษณ์ของงานวิวาห์ ตัวหนังสือจีนที่มีความหมายเป็นมงคลและเป็นสัญลักษณ์มงคลที่ใช้กันจนเป็นธรรมเนียม จึงเป็น คำ 4 คำว่า ฮก , ลก , ซิ่ว และ ซังฮี่ นี้เอง

วันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553

11 - 4 - 51 B การไหว้พระ 9 วัด เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตตนเองนั้นมีวัดใดบ้าง

ส่งเมื่อ : 11/4/51 เวลา : 09 : 37 น.
ตอบ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร, ศาลหลักเมือง, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว), วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์), วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร, ศาลเจ้าพ่อเสือ, วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง), วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

เป็นเรื่องที่นิยมมาตลอดกับการไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเอง ทัวร์ "ไหว้พระ 9 วัด" กลายเป็น "มงคล" ยอดฮิตที่คนไทยและต่างชาติกำลังให้ความสนใจ

บางคนเคร่งครัดจัดถึงขนาดที่จะต้องไปสักการะให้ครบทั้ง 9 แห่งในวันเดียว !!! ความฮิตดังว่าทำให้การททท.หยิบ "ทัวร์มงคล" นี้ใส่ในโปรเจ็กต์ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อให้หันมาสนใจท่องเที่ยวบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์กันมากขึ้น และเพื่อเป็นการดึงดูดใจเป็นทวีคูณ ททท. เหน็บเกร็ดความรู้ ความเชื่อและวิธีการสักการะแต่ละแห่งเพื่อเสริมความมงคลกันอย่างสูงสุด

1. ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร (เวลาเปิด-ปิด 05.30 - 19.30 น.)


คติ " ตัดเคราะห์ ต่อชะตา" สักการะ "เทพารักษ์ทั้ง 5" คือ พระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, พระกาฬไชยศรี, เจ้าพ่อเจตคุปต์, เจ้าพ่อหอกลอง เพื่อ "ตัดเคราะห์ ต่อชะตา เสริมวาสนาบารมี" ไหว้ เสาหลักเมืององค์จำลอง ด้วยธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ผ้าแพร 3 สี ดอกบัว และไหว้องค์จริงด้วยพวงมาลัย

กิจกรรม สักการะหลักเมือง ไหว้พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อเจตคุปต์ พระเทพไชยศรี เจ้าพ่อหอกลอง ประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ ตามธรรมเนียมเพื่อความเป็นสิริมงคล " ไหว้หลักเมือง ตัดเคราะห์ ต่อชะตา เสริมวาสนาบารมี "

สถานที่ตั้ง อยู่บริเวณหัวมุมสวนหลวง ข้างพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร

การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 1, 3, 9, 15, 25, 30, 32, 33, 39, 43, 44, 47, 53, 64, 80, 82, 91, 201, 203 รถปรับอากาศ สาย 503,508, 512

2. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (เวลาเปิด-ปิด 08.30 - 16.00 น.)


คติ "แก้วแหวนเงินทองไหลมา"ไหว้ "พระแก้วมรกต" ด้วยธูป เทียน ดอกบัวคู่

กิจกรรม ไหว้พระแก้วมรกต พระพุทธรูปสำคัญในภูมิภาคเอเชีย เป็นศูนย์กลางความศรัทธาไทย - ลาว เพื่อความเป็นสิริมงคล " ไหว้พระแก้วมรกต แก้วแหวน เงินทองไหลมาเทมาตลอดปี "

สถานที่ตั้ง อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 1, 3, 9, 15, 25, 30, 32, 33, 39, 43, 44, 53, 59, 64, 80, 82, 91,201, 203 รถปรับอากาศ สาย 501, 503, 508, 512

3. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) (เวลาเปิด-ปิด 08.00 - 16.00 น.)

คติ "ร่มเย็นเป็นสุข"ไหว้ "พระพุทธไสยาสน์"ด้วยธูป 9 ดอก เทียนแดงคู่ ทองคำเปลว 11 แผ่น

กิจกรรม นมัสการพระพุทธไสยาสน์อันศักดิ์สิทธิ์ (ที่ฝ่าพระบาททั้งสองข้างประดับมุก ลวดลายภาพมงคล 108 ประการ) เพื่อความเป็นสิริมงคล " ไหว้พระนอนวัดโพธิ์ อยู่ดีกินดีตลอดปี "

สถานที่ตั้ง หลังพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 1, 3, 6, 9, 12, 25, 43, 44, 47, 53, 60, 82, 91, 123 รถปรับอากาศ สาย 501, 508

4. ศาลเจ้าพ่อเสือ (เวลาเปิด-ปิด 08.00 - 16.00 น.)


คติ "มีอำนาจบารมี"สักการะ เจ้าพ่อเสือ เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม ด้วยธูป 18 ดอก ปัก 6 กระถาง เทียนแดง 1 คู่ พวงมาลัย 1 พวง

กิจกรรม ไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือ "ศาลเจ้าเก่าแก่ของลัทธิเต๋า" หนึ่งในสามมหาสถานของพระนครที่ชาวจีนต้องสักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล " เสริมอำนาจบารมี "

สถานที่ตั้ง ถนนตะนาว แขวงเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร

การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 10, 12, 19, 35, 42, 56, 96

5. วัดสุทัศนเทพวราราม (เวลาเปิด-ปิด 08.00 - 16.00 น.)


คติ "มีวิสัยทัศน์ที่ดี" สักการะ "พระศรีศากยมุนี" ด้วยธูป 3 ดอก เทียน 2 เล่ม ดอกบัวหรือพวงมาลัย

กิจกรรม ไหว้พระองค์ประธาน (พระศรีศากยมุณี) ที่เก่าแก่ ซึ่งอดีตเคยประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงวัดมหาธาตุของกรุงสุโขทัย เพื่อความเป็นสิริมงคล "ไหว้พระวัดสุทัศนฯ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่บุคคลทั่วไป"

สถานที่ตั้ง บริเวณเสาชิงช้า ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 10, 12

6. วัดชนะสงคราม (เวลาเปิด-ปิด 08.00 - 16.00 น.)


คติ "มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง" สักการะ "พระประธาน" ในพระอุโบสถ และ "สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท"ด้วย ธูป 5 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกบัว 1 ดอก

กิจกรรม ไหว้พระประธานในโบสถ์และรูปเคารพสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) ผู้นับถือความซื่อสัตย์ เพื่อความเป็นสิริมงคล "ไหว้พระวัดชนะสงคราม อุปสรรคร้ายพ่ายแพ้"

สถานที่ตั้ง ถนนจักรพงษ์ แขวงบางลำพู เขตพระนคร

การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 3, 6, 9, 15, 30, 32, 33, 43, 53, 64, 65, 82, 123 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 6, 509

7. วัดระฆังโฆษิตาราม (เวลาเปิด-ปิด 08.00 - 16.00 น.)


คติ "มีคนนิยมชมชื่น"สักการะ "สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โตพรหมรังสี) ด้วยธูป) 3 ดอก เทียนคู่ ทองคำเปลว 3 แผ่น หมากพลู และภาวนาด้วยคาถาชินบัญชร

กิจกรรม สักการะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และพระประธานที่วัดระฆัง อ่านคาถาชินบัญชร เพื่อความเป็นสิริมงคล " ไหว้พระวัดระฆัง มีชื่อเสียงโด่งดังตลอดปี "

สถานที่ตั้ง ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย

การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 19, 57, 83 ท่าเรือ เรือด่วนเจ้าพระยา ลงท่ารถไฟหรือท่าวังหลังก็ได้ หรือลงเรือข้ามฟากจากท่าช้างไปท่าวัดระฆัง

8. วัดอรุณราชวราราม (เวลาเปิด-ปิด 08.00 - 16.00 น.)


คติ "ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน"สักการะ "พระประธาน" ด้วยธูป 3 ดอก เทียนคู่ และต้องไปเดินทักษิณาวัตรรอบ "พระปรางค์" อีก 3 รอบ

กิจกรรม ไหว้พระปรางค์วัดอรุณฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล "ไหว้พระวัดอรุณ ชีวิตโรจน์รุ่ง ทุกวันคืน"

สถานที่ตั้ง ข้างกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่

การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทางสาย 19, 57, 83 ทางเรือ ลงเรือข้ามฟากที่ท่าเตียนขึ้นที่ท่าวัดอรุณ

9. วัดกัลยาณมิตร (เวลาเปิด-ปิด 08.00 - 16.00 น.)


คติ "เดินทางปลอดภัย"ไหว้ "พระประธานหรือหลวงพ่อซำปอกง" ด้วยธูป 3 ดอก เทียนแดงคู่

กิจกรรม ไหว้หลวงพ่อซำปอกง (พระพุทธไตรรัตนนายก) พระโตริมน้ำตามตำนาน กรุงศรีอยุธยา ณ วัดกัลยาณมิตร เพื่อความเป็นสิริมงคล "ไหว้หลวงพ่อซำปอกง โชคดีมีชัยปลอดภัยตลอดปี"

สถานที่ตั้ง แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี

การเดินทาง โดยรถประจำทาง สาย 3, 4, 7, 7ก, 9, 21, 37, 56, 82 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 7, 21, 82 (นั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างจากโรงเรียนศึกษานารี เข้ามาที่วัดเพราะรถ ประจำทางเข้าไม่ถึง) ทางเรือ ลงเรือข้ามฟากที่ท่าปากคลองตลาดขึ้นท่าวัดกัลยาณมิตร

10- 4-51 R ประเทศใดบ้างในโลกที่ใช้ พ.ศ.

ส่งเมื่อ : 10/4/51 เวลา : 23 : 04 น.
ตอบ ประเทศไทย เพียงประเทศเดียว

เริ่มใช้ พ.ศ. เป็นศักราชนับปีของทางราชการ ในสมัยราชกาลที่ ๖ แต่เดิมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมาไทยใช้จุลศักราชหรือ จ.ศ. ต่อมารัชกาลที่ ๕ โปรดฯ ให้เปลี่ยนมาใช้รัตนโกสินทร์ศก หรือ ร.ศ.แทน โดยให้ใช้เริ่มต้นนับ พ.ศ.๒๓๒๕ ปีที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีเป็น ร.ศ.๑ จนกระทั่งรัชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้ใช้พุทธศักราช หรือ พ.ศ.แทน โดยเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นต้นมา

วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553

9-4-51 R ภาพยนตร์เรื่องใด ใช้เงินลงทุนในการสร้างมากที่สุดในโลก

ส่งเมื่อ : 9/4/51 เวลา : 09 : 52 น.
ตอบ ไททานิค ( TITANIC)



















ไททานิก (Titanic) เป็นชื่อภาพยนตร์ของของสหรัฐอเมริกา ออกฉายในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ผลิตโดย ทเวนตีส์เซ็นจูรีฟ็อกซ์ และ พาราเมาต์พิกเจอร์ นำแสดงโดย ลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ และ เคต วินสเลต กำกับโดย เจมส์ คาเมรอน โดยเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ ทั้งหมด 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั่วโลก

กำกับ เจมส์ คาเมรอน
อำนวยการสร้าง เจมส์ คาเมรอน
บทภาพยนตร์ เจมส์ คาเมรอน
นักแสดงนำ
ลีโอนาโด ดิคาปริโอ
เคต วินสเลต
บิลลี่ เซน
ฟรานเซส ฟิชเชอร์
แคที่ เบตส์
แดนนี่ นุตซี่
บิลล์ แพ็กซ์ตัน
กลอเรีย สจ๊วร์ต
เพลงประกอบ เจมส์ ฮอร์เนอร์
กำกับภาพ รัสเซล คาร์เพนเตอร์
จัดจำหน่าย 20th Century Fox (นอกอเมริกา), Paramount Pictures (ในอเมริกา)
วันที่เข้าฉาย 19 ธันวาคม ค.ศ. 1997 (ในอเมริกา), 24 ธันวาคม ค.ศ. 1997 (ในไทย)
ความยาว 194 นาที
งบประมาณ 200,000,000 เหรียญสหรัฐ

ไททานิกในเมืองไทย
ไททานิก ได้เข้าฉายในประเทศไทย ในวันแรกคือวันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2540 (แต่ทุกโรงได้ฉายก่อนล่วงหน้าหนึ่งวัน คือวันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เว้นแต่ในโรงเครืออีจีวีที่ฉายตามกำหนดเดิม) โดยไม่มีชื่อเป็นภาษาไทย และเมื่อฉายแล้วก็ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ขึ้นในสังคม จนเป็นคำที่พูดติดปากกันว่า "แจ๊คกับโรส" และโดยเฉพาะในหมู่เด็กสาว ๆ ที่คลั่งไคล้ดารานำชาย คือ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ เหมือนกับหลายประเทศที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย โดยสื่อต่าง ๆ และสังคมมีการนำเสนอแง่มุมหรือเรื่องราวต่าง ๆ ของดารานำชายผู้นี้อย่างกว้างขวาง

เพลงประกอบภาพยนตร์
เพลงประกอบภาพยนตร์ "มายฮาร์ตวิลโกออน" (My Heart Will Go On) ซึ่งประพันธ์โดยวิลล์ เจนนิง (Will Jenning) อำนวยเพลงโดยเจมส์ ฮอร์เนอร์ (James Horner) และวอลเตอร์ เอฟฟานาซีฟ (Walter Effanasif) ขับร้องโดยเซลีน ดิออน (Celine Dion) ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยได้รับการเปิดออกอากาศทางสถานีวิทยุนานนับเดือน กับทั้งยังส่งผลต่อฉบับลอกแบบอื่น ๆ ที่ตามอีกด้วย เช่น ฉบับบรรเลงโดย เคนนี จี หรือฉบับภาษาไทยที่มีผู้ลักลอบแปลและบันทึกเสียงออกจำหน่าย

สำหรับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของไททานิคนั้นคงเป็นความตั้งใจของคาเมร่อนที่จะถ่ายทอดเรื่องราวการจมของไททานิคผ่านทางแผ่นฟิล์มโดยผ่านศิลปะการเล่าเรื่องด้วยภาพอย่างประณีต และใช้ตัวละครกับเรื่องราวที่สร้างขึ้นแทรกซึมเข้าไปกับการไหลลื่นของเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้อย่างกลมกลืนและแนบเนียน แล้วยังเสริมความโดดเด่นของพฤติกรรมและเรื่องราวของบรรดาผู้โดยสารตอนเรือล่มได้อย่างน่าประทับใจ จนไททานิคได้เป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่มีเสน่ห์และมีชีวิตชีวาอย่างที่สุดเรื่องหนึ่ง ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับการจมของไททานิคมาหลายเรื่อง แต่ไม่มีเรื่องใดที่ได้รับความนิยมและอยู่ในความทรงจำได้ขนาดนี้

นับได้ว่า คาเมร่อนสามารถสร้างความสมดุลระหว่างเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เรื่องราวที่แต่งเติม ความสนุกสนานตื่นเต้น โศกนาฏกรรม และความประทับใจแบบบรรยากาศของหนังฮอลลีวู้ดไว้ได้อย่างกลมกลืนและกระชับ โดยเฉพาะ ตอนที่แจ็คสิ้นลมในขณะที่ยังกุมมือของโรสไว้แน่น โดยที่โรสยังไม่รู้ตัว (ตรงกันข้ามกับตอนที่พี่โกโบเบิร์ดกำลังจะสิ้นใจ พี่แกรำพันกับหนูอังสุมากวางได้เป็นวรรคเป็นเวรหลายๆ ตอนเพื่อให้สปอนเซอร์ได้โฆษณากันอย่างเต็มที่)

ถ้าจะกล่าวอย่างสรุปสั้นๆ ว่า ไททานิคคือความลงตัวระหว่างศิลปะ และการพาณิชย์ของภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง

อีกประเด็นที่หนังเรื่องนี้มีความโดดเด่นอย่างมากก็คือ การกำกับเทคนิคพิเศษตอนเรือล่ม ซึ่งทั้งตัวแสดงบทผาดโผน ฝ่ายกำกับศิลป์ ฝ่ายเทคนิคพิเศษ และฝ่ายตกแต่งภาพด้วยคอมพิวเตอร์ต่างทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่จนได้ภาพที่เรียกได้ว่าเพอร์เฟ็กต์จนหลายๆ คนหาจุดอ่อนความไม่สมจริงแทบไม่เจอ (เทียบกับเรื่อง Perfect Storm ผมคิดว่าภาพพายุในทะเลยังมีจุดที่ดูออกว่าเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์อยู่ดีครับ)

9-4-51 B นักแสดงที่ชื่อมิสเตอร์บีน มีชื่อจริง, นามสกุลจริงว่าอย่างไร

ส่งเมื่อ : 9/4/51 เวลา : 09 : 04 น.
ตอบ โรวัน แอตคินสัน (Rowan Atkinson)

มิสเตอร์บีน (Mr. Bean)ละครตลกของประเทศอังกฤษ ซึ่งแสดงโดย โรวัน แอตคินสัน(Rowan Atkinson) เขียนโดย โรวัน แอตคินสัน Robin Driscoll Richard Curtis และ Ben Elton โดยเริ่มออกอากาศเมื่อ 1 มกราคม ค.ศ. 1990 - 31 ตุลาคม ค.ศ. 1995 รถมินิ หมายเลขยานพาหนะ SLW 287R

ชีวประวัติ
โรวัน เซบัสเตียน แอตคินสัน (Rowan Sebastian Atkinson) (เกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1955) เป็นนักแสดงบทตลกชาวอังกฤษและเป็นนักขียนบทละครที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันในบทบาท มิสเตอร์บีน Mr. Bean ซึ่งเป็นละครตลกทางโทรทัศน์ในประเทศอังกฤษและเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

ผลงานที่แสดงผ่านมา

มิสเตอร์ แบล็คแอ็ดเดอร์
บีน เดอะ มูฟวี่
มิสเตอร์บีน พักร้อนนี้มีฮา
จอห์นนี่ อิงลิช

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

8 - 4 - 51 B พระปรางค์ที่ใช้ระยะเวลาสร้างนานที่สุดคือประปรางค์วัดใด

ส่งเมื่อ : 8/4/51 เวลา : 10 : 50 น.
ตอบ พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามวรวิหาร เริ่มสร้างในสมัย ร. 2 แต่เสร็จ ร. 4


วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" ตามชื่อตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ภายหลังเปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกันแต่ อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ชื่อ "วัดมะกอกใน" ต่อมาใน พ.ศ. 2310 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น "วัดแจ้ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัด นี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง

เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรีและได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่ มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลาง พระราชวังจึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็น ราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้าน คู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสมเด็จ พระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้ อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์นี้มาจากลาวในคราวที่เสด็จตีเมืองเวียงจันทร์ ได้ในปี พ.ศ. 2322 โดยโปรดให้อัญเชิญ พระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐาน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช รัชกาลที่ 1 เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มี พระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ร. 2) เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง ไว้ในมณฑป และมีการสมโภชใหญ่ 7 คืน 7 วัน(ในปี พ.ศ. 2327 พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัด พระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง ส่วนพระบางนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรด พระราชทานคืนไปนครเวียงจันทร์) แต่สำเร็จเพียงแค่กุฎีสงฆ์ก็สิ้นรัชกาลที่ 1 ใน พ.ศ. 2352 เสียก่อน

พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามวรวิหาร

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ ทั้งได้ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธาน ในพระอุโบสถ และโปรดให้มีมหรสพสมโภชฉลองวัดในปี พ.ศ. 2363 แล้วโปรดพระราชทาน พระนามวัดว่า "วัดอรุณราชธาราม"

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรดให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้น จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์สูง 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 คืบ กับ 1 นิ้ว ฐานกลมวัดโดยรอบได้ 5 เส้น 37 วา ซึ่งการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ภายในวัดอรุณฯ นี้สำเร็จลงแล้ว แต่ยังไม่ทันมีงานฉลองก็สิ้นรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2394

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ พระองค์ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์ สิ่งต่าง ๆ ในวัดอรุณฯ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ทั้งยังได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของ พระประธานในพระอุโบสถที่พระองค์ ทรงพระราชทานนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" และเมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้พระราชทานนาม วัดเสียใหม่ว่า "วัดอรุณราชวราราม" ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดเพลิงไหม้พระอุโบสถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่เกือบทั้งหมด โดยได้โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองในการบูรณะ และโปรดเกล้าฯให้นำเงิน ที่เหลือจากการบริจาคของพระบรมวงศานุวงศ์ไปสร้างโรงเรียนตรงบริเวณกุฎีเก่า ด้านเหนือ ซึ่งชำรุดไม่มีพระสงฆ์อยู่เป็นตึกใหญ่แล้วพระราชทานนามว่า "โรงเรียนทวีธาภิเศก" นอกจากนั้นยังได้โปรดให้พระยาราชสงครามเป็นนายงานอำนวยการปฏิสังขรณ์พระปรางค์ องค์ใหญ่ และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองใหญ่รวม 3 งานพร้อมกันเป็นเวลา 9 วัน คือ งานฉลองพระไชยนวรัฐ งานบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุสมมงคล คือ มีพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ งานฉลองพระปรางค์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการปฏิสังขรณ์ เป็นการใหญ่มีการประกอบพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการบูรณะพระปรางค์ใน วันพุธที่ 27 ธันวาคม 2510 และการบูรณะก็สำเร็จด้วยดีดังเห็นเป็นสง่างามอยู่จนทุกวันนี้

8 - 4 - 51 R คำว่ารายชื่อใช้แทนคำว่าชื่อได้หรือไม่ เพราะอะไร

ส่งเมื่อ : 8/4/51 เวลา : 07 : 15 น.
ตอบ ไม่ได้

ชื่อ - รายชื่อ
คำว่า ชื่อ หมายถึง คำที่ตั้งขึ้นสำหรับเรียกคน สัตว์ สถานที่ และสิ่งของ โดยทั่ว ๆ ไปหรือโดยเฉพาะเจาะจง. ส่วนคำว่า รายชื่อ หมายถึง ชื่อหลาย ๆ ชื่อที่เรียงกันตามลำดับ

คำสองคำนี้มักมีผู้ใช้กันอย่างสับสน. ชื่อ หมายถึง ชื่อเพียงชื่อเดียว. ส่วน รายชื่อ หมายถึง ชื่อหลายชื่อ เช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย. ชื่อ ในประโยคนี้มีเพียงชื่อเดียว. นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย. รายชื่อ ในประโยคนี้มีหลายชื่อ

คำว่า ชื่อ ใช้หมายถึง หลายชื่อ ก็ได้ จึงอาจใช้แทน รายชื่อ เช่น ครูขานชื่อนักเรียนทั้งห้อง. หรือ ครูขานรายชื่อนักเรียนทั้งห้อง. แต่ รายชื่อ ใช้แทน ชื่อ ไม่ได้

ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุ กระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551 เวลา 7.00-7.30 น.